Lytton of Knebworth, Edward George Earle Bulwer-Lytton, 1st Baron (1803-1873)

เอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บุลเวอร์-ลิตตัน บารอนลิตตันที่ ๑ แห่งเนบเวิร์ท (๒๓๔๖-๒๔๑๕)

​​      ​​เอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บุลเวอร์-ลิตตัน บารอน ลิตตันที่ ๑ แห่งเนบเวิร์ท เป็นกวี นักวิจารณ์ นักประพันธ์และนักการเมืองอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ย้ายจากพรรควิกหรือพรรคเสรีนิยม (Whig Party; Liberal Party)* ไปอยู่พรรคทอรีหรือพรรคอนุรักษนิยม (Tory Party; Conservative Party)* แต่คนทั่วไปรู้จักเขาในฐานะนักแต่งนวนิยายที่ มีผลงานจำนวนมากและเป็นที่นิยมของผู้คน งานหลายชิ้นของเขาสะท้อนความสนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ชื่อเสียงของเขาในวงการประพันธ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด บุลเวอร์-ลิตตันเป็นบุคคลแรกของตระกูลลิตตันที่ได้รับบรรดาศักดิ์ขุนนาง


      บุลเวอร์-ลิตตันเกิดที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๓ เป็นบุตรชายคนสุดท้องของนายพลวิลเลียม บุลเวอร์ (William Bulwer) และเอลิซาเบท บาร์บารา ลิตตัน (Elizabeth Barbara Lytton) สตรีผู้เป็นทายาทครอบครองผืนที่ดินเนบเวิร์ทอันกว้างใหญ่ในฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ (Hertfordshire) เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บุลเวอร์-ลิตตัน เดินทางไปท่องเที่ยวที่กรุงปารีสและเมืองแวร์ซาย (Versailles) ครั้นกลับมาอังกฤษเขาก็ได้พบกับโรซีนา ดอยล์ วีเลอร์ (Rosina Doyle Wheeler) สตรีสาวสวยชาวไอริชและได้สมรสกันใน ค.ศ. ๑๘๒๗ ทั้ง ๆ ที่มารดาของเขาไม่เห็นชอบด้วย ทั้งสองดำเนินชีวิตคู่อย่าง ฟุ่มเฟือยจนต่อมาทำให้ลิตตันต้องผลิตงานประพันธ์ออกมาจำนวนมากเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านการเงินจากมารดา และไม่นานความกดดันในการดำรงชีพทำให้เขามีอารมณ์ฉุนเฉียวและไม่เอาใจใส่ภรรยา ทั้งคู่ ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงบ่อยครั้งจนต้องแยกทางกันใน ค.ศ. ๑๘๓๗
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ บุลเวอร์-ลิตตันเริ่มอาชีพนักการเมืองโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเมืองลิงคอล์น (Lincoln) สังกัดพรรคเสรีนิยม แต่ ๑๐ ปีต่อมาเขาก็ลาออกเพื่อประท้วงนโยบายยกเลิกกฎหมายข้าว (Corn Laws)* ของเซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel ค.ศ. ๑๗๘๘-๑๘๕๐)* นายกรัฐมนตรีซึ่งต้องการให้ราคาข้าวในประเทศลดลงโดยการลดภาษีนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้มีรายได้ น้อย แต่สร้างความโกรธแค้นให้แก่พวกเจ้าของที่ดินอย่างมาก สมาชิกพรรคทอรีหลายคนซึ่งมีเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๘๑)* และลอร์ดจอร์จ เบนทิงก์ (George Bentinck ค.ศ. ๑๘๐๒-๑๘๔๘) เป็นแกนนำเลิกการสนับสนุนเซอร์รอเบิร์ต พีลกฎหมายข้าวแม้จะได้รับการสรรเสริญแซ่ซ้องจากชนชั้นแรงงานที่บันดาลขนมปังราคาถูกให้แก่พวกเขา แต่ก็เป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในหมู่สมาชิกพรรคทอรี จนต่อมาพีลต้องสูญเสียตำแหน่งผู้นำรัฐบาลหลังจากนั้น บุลเวอร์-ลิตตันได้หันไปคบหาสนิทสนมกับดิสเรลี นักการเมืองคนสำคัญซึ่งมีผลงานด้านการประพันธ์นวนิยายเช่นกัน ดิสเรลีได้ชักชวนเขาให้ไปสังกัดพรรคอนุรักษนิยม บุลเวอร์-ลิตตันจึงกลับสู่สภาสามัญอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๘๕๒ ในฐานะผู้แทนจากมณฑลฮาร์ตฟอร์ดเชียร์ ในสมัยรัฐบาลชุดที่ ๒ ของเอดเวิร์ด จอร์จ แสตนลีย์ เอิร์ลที่ ๑๔ แห่งดาร์บี (Edward George Stanley, 14th Earl of Derby ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๖๙) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๘-๑๘๕๙ บุลเวอร์-ลิตตันได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคม
     อย่างไรก็ดี ชาวอังกฤษมักรู้จักบุลเวอร์-ลิตตันจากผลงานการประพันธ์ซึ่งมีลีลาและเนื้อเรื่องสอดคล้องกับรสนิยมของผู้อ่านในช่วงต่าง ๆ เขามีไหวพริบในการคาดเดาความเปลี่ยนแปลงในรสนิยมของผู้อ่านและรู้ แนวทางการทำให้ผู้อ่านพึงพอใจ นอกจากนวนิยายแล้วเขายังแต่งบทละครและประสบความสำเร็จด้วย แต่บทละครของเขาไม่ได้เป็นที่นิยมยืนยาวในวงการละครเวที นวนิยายเรื่องแรกของบุลเวอร์-ลิตตันคือเรื่อง Pelham ซึ่งเป็นนวนิยายโรมานซ์แบบกอทิก (Gothic) แสดงฉากสังคมชั้นสูงที่หรูหรา ต่อมาเขาก็หันไปเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ซึ่งพิถีพิถันในรายละเอียดของเนื้อหามาก เรื่องที่เด่นคือ The Last Days of Pompeii ( ค.ศ. ๑๘๓๔) ความยาว ๓ เล่มจบ และ Harold, the Last of the Saxon Kings ( ค.ศ. ๑๘๔๘) ส่วนนวนิยายเรื่องหลัง ๆ เป็นแนวสัจนิยมซึ่งสะท้อนภาพสังคมอังกฤษ เช่น The Caxtons ( ค.ศ. ๑๘๔๙) ความยาว ๓ เล่มจบ และ My Novel ( ค.ศ. ๑๘๕๓) นอกจากนี้ เขายังประพันธ์งานร้อยกรองหลายเล่ม มีทั้งมหากาพย์เรื่อง King Arthur ( ค.ศ. ๑๘๔๘) ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จนักและนวนิยายแนวเสียดสีซึ่งมีเนื้อหาบางตอนโจมตีลอร์ดอัลเฟรด เทนนิสัน (Alfred Tennyson ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๙๒) ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นกวีหลวงใน ค.ศ. ๑๘๕๐ ในขณะเดียวกันนัก วิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยอย่างวิลเลียม เมกพีซ แทกเกอเรย์ (William Makepeace Thackeray) ก็โจมตีผลงานของบุลเวอร์-ลิตตันอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะการเขียนบทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ลงใน Fraser’s Magazine และเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ผู้คนก็แทบไม่สนใจพูดถึงงานประพันธ์ของเขาอีก
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๘ บุลเวอร์-ลิตตันได้รับบรรดาศักดิ์บารอเนต (Baronet) ครั้นเมื่อมารดาของเขาเสียชีวิตลงใน ค.ศ. ๑๘๔๓ เขาก็ได้รับมรดกที่ดินแห่งเนบเวิร์ทและนำชื่อสกุลลิตตันของมารดามาต่อท้ายชื่อสกุลบุลเวอร์ด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เขาได้รับการเลื่อนชั้นขุนนางเป็นบารอน
     เอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บุลเวอร์-ลิตตัน บารอน ลิตตันที่ ๑ แห่งเนบเวิร์ทถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองทอร์กี (Torquay) ในมณฑลเดวอนเชียร์ (Devonshire) เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๓ ขณะอายุ ๗๐ ปี.



คำตั้ง
Lytton of Knebworth, Edward George Earle Bulwer-Lytton, 1st Baron
คำเทียบ
เอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บุลเวอร์-ลิตตัน บารอนลิตตันที่ ๑ แห่งเนบเวิร์ท
คำสำคัญ
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- กฎหมายข้าว
- ฮาร์ตฟอร์ดเชียร์, มณฑล
- ฮาร์ตฟอร์ดเชียร์
- เทนนิสัน, ลอร์ดอัลเฟรด
- เดวอนเชียร์, มณฑล
- แวร์ซาย, เมือง
- วีเลอร์, โรซีนา ดอยล์
- พรรควิก
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- เบนทิงก์, ลอร์ดจอร์จ
- พรรคทอรี
- บุลเวอร์, วิลเลียม
- บุลเวอร์-ลิตตัน, เอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ล บารอนลิตตันที่ ๑ แห่งเนบเวิร์ท
- แทกเกอเรย์, วิลเลียม เมกพีซ
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- แสตนลีย์, เอดเวิร์ด จอร์จ เอิร์ลที่ ๑๔ แห่งดาร์บี
- ทอร์กี, เมือง
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1803-1873
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๔๖-๒๔๑๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf